Miss SUPATTRA

Miss SUPATTRA

วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

มรรยาท (จรรยาบรรณ) ของ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต


ได้กำหนดหลักการพื้นฐาน มรรยาทของผู้สอบบัญชี ไว้ หมวด คือ
            1. ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต
            2. ความรู้ความสามารถ และมาตรฐานในการปฏิบัติงาน
            3. มรรยาทต่อลูกค้า
            4. มรรยาทต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ
            5. มรรยาททั่วไป
                    รายละเอียดข้อกำหนดและคำชี้แจง แต่ละหมวด มีดังต่อไปนี้
            1. ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต
            ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต  ในการตรวจสอบและเสนอรายงานการสอบบัญชี ผู้สอบบัญชีต้องรักษาไว้ซึ่งความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้ผลงานของผู้สอบบัญชีเป็นที่เชื่อถือได้
                 ความเป็นอิสระ
        หมายถึง  การที่ผู้สอบบัญชีสามารถวางแผนการตรวจสอบและใช้วิธีการตรวจสอบต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานที่เพียงพอตลอดจนแสดงความเห็นในรายงานการสอบบัญชี โดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆ ความเป็นอิสระนี้จะต้องเป็นที่ประจักษ์ต่อบุคคลทั่วไปด้วยว่า ผู้สอบบัญชีไม่มีส่วนได้เสียในกิจการที่ตนสอบบัญชี เพื่อให้ผลงานของผู้สอบบัญชี เป็นที่เชื่อถือได้และเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร เจ้าหนี้ นักลงทุน และผู้อื่นที่ใช้งบการเงิน
             ความเที่ยงธรรม
        หมายถึง การใช้ดุลยพินิจโดยปราศจากความลำเอียง และการพิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างยุติธรรมและเป็นกลาง
             ความซื่อสัตย์สุจริต
        หมายถึง การประพฤติตรงจริงใจ ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง ไม่ปกปิดข้อเท็จจริงหรือบิดเบือนความจริงอันเป็นสาระสำคัญของงบการเงิน ไม่แสดงตนว่าได้ตรวจสอบบัญชี ตามมาตรฐานและกฎเกณฑ์การสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป ถ้าตนไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานและจัดให้มีกระดาษทำการและหลักฐานอื่นมาแสดงเพื่อปลดเปลื้องหน้าที่ ของตนตามมาตรฐานการสอบบัญชี  
                2. ความรู้ความสามารถ และมาตรฐานในการปฏิบัติงาน
            ในการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี ผู้สอบบัญชีต้องใช้ความรู้ความสามารถและความชำนาญงานในวิชาชีพเป็นพิเศษ เพื่อที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ผลงานของผู้สอบบัญชีเป็นที่เชื่อถือได้ การที่จะสามารถปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง และรอบคอบตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป ผู้สอบบัญชีต้องวางแผนและควบคุมงานสอบบัญชี จนสามารถรวบรวมหลักฐานการตรวจสอบให้เป็นที่เพียงพอแก่การแสดงความเห็นในรายงานการสอบบัญชี โดยปราศจากการคาดคะเนรายการใดๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้นของกิจการที่ตนรับสอบบัญชี เว้นแต่เป็นการประมาณการทางบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ตลอดจนจะต้องจัดทำรายงานการสอบบัญชีเพื่อแสดงความเห็น ว่างบการเงินถูกต้องตามที่ควรตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่เพียงใดจากหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบ
                3. มรรยาทต่อลูกค้า
                ผู้สอบบัญชีพึงให้บริการแก่ลูกค้า โดยสำนึกในหลักการและมรรยาทแห่งวิชาชีพในการนี้ผู้สอบบัญชีจะต้องปฏิบัติงานด้วยความรู้ ความสามารถ และตามมาตรฐานการปฏิบัติงานเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ และจะต้องไม่ละทิ้งงานที่รับตรวจสอบโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
                ในการปฏิบัติงานสอบบัญชี ผู้สอบบัญชีอาจล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลใดๆ ที่พึงถือเป็นความลับของกิจการที่ตนตรวจสอบ ผู้สอบบัญชีจะต้องไม่นำข้อมูลนั้นไปเปิดเผย ทั้งนี้รวมถึงการที่ผู้สอบบัญชีผู้ร่วมสำนักงาน หรือผู้ช่วยผู้สอบบัญชีจะต้องไม่นำข้อมูลที่ได้มาในระหว่างการปฏิบัติงานสอบบัญชีไปใช้ หรือเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าได้ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก เว้นแต่กรณีที่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า หรือกรณีที่ต้องให้ถ้อยคำในฐานะพยานตามกฎหมาย รวมทั้งกรณีที่เป็นการเรียกตรวจสอบโดยหน่วยราชการ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและส่งเสริมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชีจึงจะเปิดเผยได้
                4. มรรยาทต่อเพื่อนร่วมวิชาชีพ
                 ผู้สอบบัญชีควรให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ในการส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพสอบบัญชี และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพเดียวกัน
                ในกรณีที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานโดยผู้สอบบัญชีอื่น ผู้สอบบัญชีจะต้องไม่ทำงานเกินขอบเขตที่ตนได้รับมอบหมาย เว้นแต่จะได้รับอนุญาต จากผู้สอบบัญชีที่มอบหมายนั้นก่อน และจะต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการแย่งงานหรือแย่งผู้ช่วยผู้สอบบัญชีจากผู้สอบบัญชีอื่น
                5. มรรยาททั่วไป
                 วิชาชีพสอบบัญชีเป็นวิชาชีพอิสระที่มีเกียรติ ผลงานของผู้สอบบัญชีเป็นที่เชื่อถือ ของบุคคลหลายฝ่ายรวมทั้งสาธารณชน ผู้สอบบัญชีจึงต้องปฏิบัติตนเพื่อรักษาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาและส่งเสริมเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ และพึงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น