Miss SUPATTRA

Miss SUPATTRA

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

เรียนรู้ความสำเร็จผ่านทางลัด จาก 5 กูรูตำนานการลงทุน

"ถ้าคุณต้องการสร้างความมั่งคั่ง ให้เข้าใจในสิ่งที่นักลงทุนเก่งกาจฉลาดที่สุดในโลกเขาทำกัน" เป็นวลีเด็ดของ ลาร์รี คัดโลว แห่งซีเอ็นบีซี หลังอ่านงานเขียนเรื่อง "The Big Win" ของ สตีเฟ่น ไวส์ นักค้าหุ้นมือโปร ที่เชื่อว่าการเรียนรู้ประสบการณ์การลงทุนที่สั่งสมมานาน จากกลุ่มนักลงทุนชื่อดังผู้เป็นตำนานมีชื่อเสี่ยงโด่งดังรู้จักระดับโลก ไม่ใช่เรื่องเสียเวลาแต่กลับมีคุณค่าอย่างยิ่ง และคัดโลวได้รวบรวมส่วนหนึ่งจากงานเขียนของไวส์ ที่ โดนใจ Fundamentals สัปดาห์นี้ อยากนำเสนอถ่ายทอดมุมมอง พร้อมประสบการณ์การลงทุนของ 5 เซียนกูรูการลงทุนชื่อดัง ซึ่งบางคนเป็นที่รู้จักของนักลงทุนไทยทั่วโลกเป็นอย่างดี หวังเป็นประโยชน์ให้นักลงทุนไทยสามารถเพิ่มภูมิความรู้การลงทุนในสไตล์ฝรั่งตะวันตกได้บ้าง ไม่มากก็น้อย 

0 อัลเฟรด โทบแมน 

เอ. อัลเฟรด โทบแมน เกิดในปี 2467 เป็นกูรูตำนานการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ที่มีชื่ออาจไม่คุ้นหูคนไทยนัก แต่ถ้าถามไถ่ผู้เชี่ยวชาญในโลกธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โทบแมนถือเป็นหนึ่งในนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา ซีบีเอส นิวส์ เคยยกย่องให้โทบแมน เป็นตำนานของธุรกิจค้าปลีกโดยใช้คำว่า “a legend in retailing” เขาสร้างชอปปิงมอลล์สมัยใหม่ เป็นผู้ยกระดับธุรกิจพัฒนาพื้นที่สร้างธุรกิจค้าปลีกไปพร้อมๆ กับห้างหรือศูนย์การค้า เพราะโทบแมนก่อตั้ง “โทบแมน เซ็นเตอร์ส” บริษัทพัฒนาภูมิสถาปัตยกรรม ไปเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกทรงอิทธิพลมีห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า รายรอบด้านนอกย่านชานเมือง ที่เป็นสถาปัตยกรรมดึงดูดใจนักช้อปนักเที่ยวได้อย่างแท้จริง ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 โทบแมนเกิดไอเดียแตกต่างด้วยการออกแบบไม่เหมือนใคร เพียงแนวคิดฉีกออกไปจากเดิม สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมเชิงพาณิชย์รูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ทำลายทัศนียภาพตามโครงสร้างสมเหตุสมผล ทำให้ปัจจุบันบริษัทของโทบแมน ยังคงเป็นหนึ่งในบริษัทมากมายจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ด้วยมาร์เก็ต แคป ปัจจุบันมากถึง 4.5 พันล้านดอลลาร์ เทียบเป็นเงินไทยเกือบ 1.4 แสนล้านบาท บทเรียนกับความสำเร็จของโทบแมน คือ ลงมือค้นคว้าวิจัยหาสิ่งที่แปลกแตกต่างไปจากเดิม แม้ว่าช่วงแรกสิ่งนั้นดูเหมือนเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อหรือไม่น่าเป็นไปได้ ความสำเร็จมากมายอย่างที่โทบแมนได้รับ มาจากการนำเสนอไอเดียแหวกแนว สร้างความเพลิดเพลินบันเทิงให้ควบคู่กับธุรกิจการลงทุน ดังนั้น ให้ลองวิเคราะห์หาสิ่งแตกต่างไปจากเดิมคิดนอกกรอบ อาจทำให้เรื่องราวที่เป็นแค่เพียงความคิดของคุณ กลายเป็นเรื่องจริงสิ่งที่เป็นไปได้ 

0โรเจอร์ส จูเนียร์ 


ชื่อข้างต้นคงไม่คุ้นหูเหมือน จิม โรเจอร์ส เจ้าของฉายา "อินเดียน่าโจนส์แห่งวงการไฟแนนซ์" เขาเป็นที่รู้จักตั้งแต่ปี 2516 ในฐานะผู้ก่อตั้ง "ควอนตัม ฟันด์" ร่วมกับ จอร์จ โซรอส ผลงานโรเจอร์สช่วง 10 ปีอยู่กับควอนตัม ฟันด์ คือ ทำกำไรให้กองทุนมากถึง 4,200% ก่อนถอนตัวออกมาลุยลงทุนด้วยตัวเขาเอง หากใช้คำอธิบายความเป็นตำนานกับสูตรแห่งความสำเร็จของโรเจอร์ส ซีเอ็นบีซีใช้คำว่า "การสำรวจ" และยกให้โรเจอร์สเหมือน "เฟอร์ดินาน แมกเกลแลน" ที่ใช้เวลาเดินทางสำรวจช่วงปี 2062-2065 ล่องเรือจากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกไปสู่มหาสมุทรแปซิฟิก แต่โรเจอร์สใช้มอเตอร์ไซค์คันเดียวท่องเที่ยวทั่วโลกนาน 2 ปี ในช่วงทศวรรษหลังปี 2433 และอีกช่วงหนึ่ง ระหว่างปี 2542-2545 หลังจากท่องเที่ยวไปทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ ในที่สุดโรเจอร์สตัดสินใจขายบ้านพักในกรุงนิวยอร์กในปี 2550 และย้ายมาพำนักอยู่ในเอเชียทุกวันนี้ เพราะรู้ว่าในศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษของจีนอย่างแท้จริง บทเรียนที่ได้จากโรเจอร์ส คือ การสำรวจ การทดสอบและประสบการณ์ การได้เห็นจริงถึงมีความเชื่อ คัดโลววิเคราะห์ว่าโรเจอร์สโยกย้ายตัวเองไปเอเชีย เพราะเขามองและพิสูจน์ด้วยตาตัวเอง เห็นสัญญาณที่ว่าเอเชียผ่านประสบการณ์ปฏิรูปภาคการเงิน คล้ายคลึงกับสหรัฐได้รับประสบการณ์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของศตวรรษที่ 20 แต่นักลงทุนทั่วไปไม่จำเป็นต้องย้ายไปอยู่เอเชีย เพื่อเรียนรู้จริงแบบกูรูผู้เป็นตำนานท่านนี้ การเรียนรู้ในแนวทางเดียวกับโรเจอร์สนั้น คุณสามารถทำได้ในทุกๆ ที่บนโลกใบนี้ ให้ลองซื้อสินค้าของบริษัทหรือลองมีประสบการณ์ใช้บริการของบริษัท ลองเข้าไปช้อปสินค้าตามร้านเครือข่ายของบริษัทนั้นๆ ลองพูดคุยกับพนักงานของบริษัท เพราะบริษัทแห่งหนึ่งแห่งใดดูแล้วยิ่งใหญ่เพราะเนื้อหาอยู่ตามหน้ากระดาษ อาจไม่เหมือนหรือห่างไกลจากความเป็นจริงเมื่อได้เข้าไปสัมผัสได้รู้จักทุกอย่างเกี่ยวกับบริษัทด้วยตัวเอง 

0ลี เอส.เอนส์ไล 


เอนส์ไลเทียบได้กับ "ร็อคสตาร์" ของวงการเฮดจ์ฟันด์โลก เขาก่อตั้ง มาเวอริค แคปิตอล "Maverick Capital" กองทุนเฮดจ์ฟันด์ชั้นแนวหน้าขึ้นมาในปี 2536 เน้นลงทุนหลักทรัพย์ทั้งระยะยาวและสั้น ไม่เทรดบอนด์ ไม่เล่นอัตราแลกเปลี่ยน ไม่เล่นตลาดโภคภัณฑ์ หรือเล่นออปชั่น แต่เอนส์ไลซื้อหรือเล่นในสิ่งที่เขาคิดว่าจะชนะตลาดได้ และขายในสิ่งที่เขาคิดว่าจะให้ผลประกอบการย่ำแย่ จึงเป็นเรื่องดูง่ายกับสไตล์การลงทุนแบบเอนส์ไล และหากค้นหาข้อมูลในกูเกิล พบว่าเอนส์ไลสามารถเอาชนะดัชนีเอส แอนด์ พี 500 ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ย 6%-7% ต่อปี แต่ความผันผวนมีน้อยกว่า 50% และจากสถิติช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มาเวอริค แคปิตอล กองทุนเฮดจ์ฟันด์ของเอนส์ไลทำผลตอบแทนเฉลี่ย 7.7% และในปีนี้ กองทุนของเขาให้ผลประกอบการโดดเด่นเหนือดัชนีเอส แอนด์ พี 500 มากกว่า 4% ปัจจุบันมาเวอริค แคปิตอล มีสินทรัพย์ให้บริหารมากกว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ในปี 2546 มาเวอริค แคปิตอล ได้เข้าไปลงทุนใน Cognizant Technology Solutions Corp. บริษัทจัดหาเป็นที่ปรึกษาดูแลกระบวนการธุรกิจด้วยเทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นแนสแด็ก จากหุ้นที่ราคาไม่ถึง 5 ดอลลาร์ เอนส์ไลไม่ขายหุ้นตัวนี้จนถึงกลางปี 2550 และช่วง 4 ปีแห่งความอดทน มาเวอริค แคปิตอล สามารถขายหุ้นตัวนี้ออกไปด้วยมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า ฟันกำไรได้หลายร้อยล้านดอลลาร์ สิ่งที่นักลงทุนไทยสามารถเรียนรู้ซึมซับจากเอนส์ไล คือ แวะเวียนดูการลงทุนของตัวเองราวกับว่าเป็นการลงทุนครั้งแรก มั่นเยี่ยมๆ มองๆ หาไอเดียการลงทุนให้ตัวเองอยู่ทุกวัน และถามตัวเองด้วยว่าการลงทุนทั้งหมดยังคงเป็นจริงต่อไปได้หรือไม่ ให้ใช้ความคิดพิจารณาปรับเปลี่ยนพอร์ตของตัวเอง คอยปัดฝุ่นพอร์ตการลงทุนของตัวเองไว้เสมอ เพื่อกำหนดแนวทางการลงทุนซื้อหุ้น การเรียนรู้ไม่ใช่ประเด็นที่ว่าคุณได้กำไรหรือขาดทุนเท่านั้น แต่อยู่ที่การสร้างวินัยคอยตรวจสอบพอร์ตลงทุน เพื่อให้เงินลงทุนถูกจัดวางไว้อย่างเหมาะสมสำหรับตัวเอง 

0เรอนี โฮเจอรัด

โฮเจอรัดจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมอนทานา สาขาวิชาเอกการป่าไม้ แต่จากพื้นฐานความรู้ผลักดันให้โฮเจอรัดใช้ประโยชน์จากความชอบในการศึกษาเกี่ยวกับพืชพรรณไม้ป่า สั่งสมความรู้การลงทุนเข้ามาผสมผสานกลายเป็นเทรดเดอร์มือโปรตลาดโภคภัณฑ์ของกาลเทียร์ ลิมมิเทด โฮเจอรัดเป็นลูกสาวของเกษตรกรอเมริกันจากพื้นที่ตะวันตกตอนกลางของสหรัฐ กระตือรือร้นศึกษาทำความเข้าใจการปลูกพืชเก็บเกี่ยวเป็นผลผลิตการเกษตรที่สำคัญๆ อย่างข้าวโพด ข้าวสาลีและธัญพืชอื่นๆ ความพยายามเรียนรู้ศึกษาทำความเข้าใจช่วยให้เธอพัฒนาขีดความสามารถในการอ่านวงจรสินค้าโภคภัณฑ์ได้ดีอย่างเหลือเชื่อ และดีกว่าเทรดเดอร์ส่วนใหญ่อยู่ในตลาดโภคภัณฑ์ กาลเทียร์ ลิมมิเทด ก่อตั้งในปี 2540 ด้วยการบุกเบิกของโฮเจอรัดที่ขณะนั้นมีประสบการณ์ยาวนานถึง 30 ปีในตลาดโภคภัณฑ์ และปัจจุบันเธอยังบริหารบริษัทซึ่งเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์โภคภัณฑ์ ที่มีสินทรัพย์นับพันล้านดอลลาร์ให้ดูแล บทเรียนได้จากโฮเจอรัด คือ ซื้อในสิ่งที่คุณรู้ เพราะความสำเร็จของโฮเจอรัดอยู่ที่ว่าการใช้ประโยชน์และพลังที่มีอยู่กับตลาดที่ตัวเองเข้าใจได้ดีกว่าคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ แม้ทุกคนสามารถเรียนรู้ว่าจะเทรดสินค้าโภคภัณฑ์ได้อย่างไร แต่สำหรับโฮเจอรัดแล้วเธอทำความเข้าใจในพืชผลการเกษตรและการเก็บเกี่ยวอย่างที่ลูกสาวเกษตรกรควรทำได้ พร้อมกับการนำพื้นฐานการศึกษาด้านป่าไม้การเกษตรมาใช้ ลองหาโอกาสกับสถานการณ์ ดึงความเชี่ยวชาญในสิ่งต่างๆ ที่เข้าใจเรียนรู้อย่างถ่องแท้ นำความได้เปรียบจากความรู้และเข้าใจมาใช้ เช่น หากนักลงทุนชื่นชอบคลั่งไคล้ในรถยนต์ คุณอาจจัดสรรพอร์ตลงทุนไว้ในหุ้นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์บ้างก็ได้ หรือถ้าชื่นชอบเดินดูเปรียบเทียบเสื้อผ้าข้าวเครื่องใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค คุณอาจมองหาลู่ทางลงทุนในธุรกิจค้าปลีก 

0รอย โดนาฮู พีเบิลส์ 


พิเบิลส์เกิดในปี 2503 ปัจจุบันเป็นนักกิจกรรมการเมือง นักเขียนและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มือโปร ผู้สามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจในชื่อ พีเบิลส์ คอร์ป. และนั่งในตำแหน่งประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐที่ก่อตั้งขึ้นและเป็นของคนอเมริกันผิวดำเชื้อสายแอฟริกัน ปัจจุบัน พีเบิลส์ คอร์ป มีพอร์ตการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ ลงทุนในกิจการโรงแรมหรูหลายแห่ง อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และอาคารที่พักอาศัยแนวดิ่งอีกมากมายหลายแห่งในกรุงวอชิงตัน ดีซี ในเมืองลาสเวกัส มลรัฐเนวาด้า และในย่านไมอามี่บีช และทุกวัน นี้เขายังคงได้รับเชิญเป็นแขกร่วมรายการ เป็นนักวิจารณ์ ให้ความเห็นด้านสังหาริมทรัพย์ ประเด็นเศรษฐกิจกับการเมือง ผ่านสื่อทั้งสิ่งพิมพ์และสถานีโทรทัศน์สำคัญของสหรัฐ ซีเอ็นบีซี ระบุว่า พีเบิลส์ร่ำรวยมาตั้งแต่อายุได้เพียง 30 ปี จากแรงบันดาลใจความชอบการเมืองเป็นทุนเดิมมาตั้งแต่อายุ 16 ปี ด้วยการเข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่ประจำรัฐสภาสหรัฐ และระหว่างเข้าไปทำงานคลุกคลีกับการเมืองสหรัฐ เขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์สร้างสายสัมพันธ์ส่งผลต่อดีต่อการทำข้อตกลงในหลายๆ เรื่อง และเมื่อเขาพยายามผันตัวเองจากวงการการเมืองสู่วงการอสังหาริมทรัพย์ในปี 2522 ดังนั้น ตลอด 33 ปีที่ผ่านมา พีเบิลส์ได้นำประสบการณ์การเมืองที่สั่งสมมาไปใช้กับธุรกิจเขาได้อย่างเต็มที่ และในเดือน พ.ค. 2552 ฟอร์บส์ได้ยกให้พีเบิลส์ติดท็อปแทนคนอเมริกันผิวดีร่ำรวยที่สุด ขณะที่นิตยสารฟอร์จูนได้ประเมินความร่ำรวยส่วนตัวของพีเบิลส์อยู่ที่ 350 ล้านดอลลาร์ โดยไม่คำนวณรวมกับสินทรัพย์ที่มีอยู่ในอาณาจักรธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คัดโลวแห่งซีเอ็นบีซีสรุปบทเรียนที่ได้จากพีเบิลส์ว่า การลงทุนคำนึงถึงมนุษยศาสตร์หรือการศึกษามนุษย์ด้วยกันเองนั้นสำคัญพอๆ กันกับเรื่องการทำดีลการมีตัวเลขขาดทุนกำไร เพราะการทำธุรกรรมทำธุรกิจทุกครั้งเริ่มต้นมาจากมนุษย์ ในยุคที่อีเมล การค้นหาทางอินเทอร์เน็ต และการเทรดผ่านคอมพิวเตอร์ ทำให้เป็นเรื่องง่ายที่มนุษย์จะเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง แต่บางครั้ง การใช้แนวทางเดิมๆ อย่างการเสวนาพูดจาสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน สามารถสร้างมูลค่าต่อยอดให้กับการลงทุนการทำธุรกิจได้ดี และดีกว่าวิธีการปฏิสัมพันธ์อื่นๆ ทุกอย่างที่อิงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่มารวมกันเสียอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น