Miss SUPATTRA

Miss SUPATTRA

วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

ดอกเบี้ยขาลงขานรับศก.โลกซบเซาหนัก


เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับกันตรงๆ ได้แล้ว ว่าสภาวการณ์เศรษฐกิจโลกขณะนี้กำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะย่ำแย่อย่างหนัก ยืนยันได้จากคำกล่าวของ คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งออกมาชี้แจงเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัวและจะเลวร้ายลงกว่านี้ หากบรรดาผู้นำยูโรโซนยังไม่สามารถเร่งงัดมาตรการแก้ไขวิกฤตหนี้อย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นได้โดยเร็ว
ขณะที่ตัวเลขการขาดดุลการค้าที่สูงกว่าเป้าถึง 2 เท่า เมื่อเดือน ก.ค. ของญี่ปุ่นที่ 5.174 แสนล้านเยน (ราว 2.015 แสนล้านบาท) รวมถึงการที่ภาคการนำเข้าและส่งออกไปต่างประเทศของจีนในเดือน ก.ค. ที่หดตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ก็เป็นอีกหนึ่งประจักษ์พยานสำคัญว่าขณะนี้ภาวะการค้าการขายในตลาดโลกกำลังเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน
ด้วยสภาวะที่ย่ำแย่เช่นนี้ จึงไม่แปลกใจนักที่จะได้เห็นบรรดาประเทศต่างๆ พากันเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นผ่านการตัดลดอัตราดอกเบี้ยแบบไม่เคยมีมาก่อนในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้า เพื่อค้ำยันเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้เข้าสู่ภาวะย่ำแย่ไปกว่าเดิม ถึงแม้จะรู้ดีว่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อมากขึ้นก็ตาม
ไล่เรียงไปตั้งแต่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ที่ตัดลดลงมาต่ำสุดในประวัติการณ์ที่ 0.75% ขณะที่ธนาคารกลางจีน ก็ประกาศลดดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งในเดือนเดียว เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ลดเหลือที่ 6% และล่าสุดคือ ธนาคารกลางบราซิล ที่ได้ตัดลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 9 ติดต่อกันลงมาเหลือที่ 7.5%
ส่วนทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งแม้ว่าในช่วงระยะหลังมานี้จะไม่ได้ออกมาตรการกระตุ้นออกมาเพิ่มเติม ยกเว้นการขยายเวลาของมาตรการขายคืนพันธบัตรระยะสั้นและรับซื้อพันธบัตรระยะยาว (โอเปอเรชันทวิสต์) ออกไป แต่ก็ได้ออกมาย้ำชัดว่าจะขยายการคงดอกเบี้ยต่ำที่ 0-0.25% ไปจนถึงปลายปี 2557 ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ และเป็นการประกาศใช้ที่นานมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งรวมแล้วกินเวลาเกือบ 4 ปีทีเดียว
นอกจากนี้ ยังไม่รวมถึงเหล่าบรรดาประเทศรายเล็กอื่นๆ ทั้งในเอเชียและยุโรป ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ เวียดนาม โปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก ตุรกี ที่มีทั้งได้ตัดลดไปก่อนแล้ว และกำลังจะดำเนินการตัดลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้นี้ เรียกได้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่อึมครึมนั้นกำลังบีบคั้นให้ประเทศต่างๆ ต้องก้มหน้ายอมกดดอกเบี้ยให้ต่ำลงอย่างไม่เคยมีมาก่อน แม้ว่าลึกๆ ก็ไม่อยากจะทำก็ตามที
“เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมากที่เหล่าบรรดาธนาคารกลางหลายประเทศ ได้ออกมาตัดลดอัตราดอกเบี้ยในระยะเวลาไล่เลี่ยกันในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนี่เป็นสัญญาณเตือนแล้วว่าความกังวลของเหล่าบรรดาผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจต่อภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ” มาร์ค วิลเลียม นักเศรษฐศาสตร์ จากบริษัทให้คำปรึกษาด้านการเงิน แคปปิตอล อีโคโนมิก ของอังกฤษ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ส
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในนโยบายการเงินเพื่อใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะถูกมองจากเหล่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์จากหลายสถาบันว่าจะให้ผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังจะไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก เมื่อเทียบกับการใช้นโยบายแทรกแซงอื่นๆ อาทิ การอัดฉีดเงินเข้าระบบโดยตรง หรือการใช้นโยบายกระตุ้นผ่านทางนโยบายการคลังของรัฐด้วยการอัดฉีดเงินลงทุนผ่านทางนโยบายต่างๆ
ทว่าเมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและรายละเอียดลงไปในแต่ละประเทศให้ดีๆ แล้ว จะพบว่าเต็มไปด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดมากมาย ที่เป็นก้างคอยขัดขวางไม่ให้การผลักดันแผนต่างๆ ที่ถูกมองว่าจะได้ผลดีกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวออกมาใช้ได้
ไล่เรียงไปตั้งแต่อัตราหนี้สาธารณะที่สูง โดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป ที่จะทำให้การใช้นโยบายการคลังมาอัดฉีดเต็มไปด้วยข้อจำกัด เพราะเมื่อใดที่นำเงินออกมากระตุ้น ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้อัตราส่วนหนี้ภาครัฐเพิ่มสูงขึ้นไปจากเดิมที่มีสูงอยู่แล้ว และนั่นก็จะกระทบกลับความเชื่อมั่นของสถานะทางเศรษฐกิจของรัฐบาลตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2551-2552 ที่ผ่านมา ก็ได้ทำให้รัฐบาลหลายประเทศต่างเหลือกระสุนสำรองในนโยบายการคลังเพื่อออกมาใช้รับมือกับวิกฤตได้น้อยลง
นอกจากนี้ การออกมาตรการกระตุ้นผ่านการอัดฉีดเงินเข้าระบบที่ผ่านมาในอดีต ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่าสุดท้ายประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นกลับระบบเศรษฐกิจในภาพรวม แต่กลับไปเกิดขึ้นกลับกลุ่มนักเก็งกำไรต่างๆ อาทิ การอัดฉีดเงินครั้งใหญ่มูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (ราว 18.166 ล้านล้านบาท) ของจีน เพื่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2551–2552 ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ภาวะฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์และหนี้เน่าในภาคธนาคารและรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้รัฐบาลจีนยังแก้ไม่ตกมาจนถึงทุกวันนี้
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้รัฐบาลจีนถึงกับเข็ดขยาดกับการใช้มาตรการกระตุ้นอย่างใหญ่โตเช่นนี้อีกครั้ง
“เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ารัฐบาลจีนไม่มีความตั้งใจที่จะออกนโยบายการกระตุ้นแบบใหญ่โตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกต่อไปแล้ว” สำนักข่าวซินหัวกระบอกเสียงหลักของรัฐบาลจีน ระบุไว้ในบทความด้านนโยบายด้านเศรษฐกิจ เมื่อปลายเดือน พ.ค.นี้เอง พร้อมกับเสริมว่า การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่วิธีการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
ขณะที่อีกหนึ่งหลักฐานซึ่งบ่งชี้ว่า ขณะนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดเงินเข้าระบบโดยตรง ดูจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักในเวลานี้ก็คือผลสำรวจของซีเอ็นเอ็น ซึ่งชี้ว่าเหล่าบรรดานักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในสหรัฐ ที่ส่วนใหญ่คิดเป็นอัตราส่วนถึง 77% และ 93% ตามลำดับ ต่างออกมาแสดงอาการร้องยี้และคัดค้านต่อการที่เฟดจะออกมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) รอบที่ 3 ในเร็วๆ นี้ โดยให้เหตุผลว่า การกระตุ้นดังกล่าวจะไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจในภาพรวม แต่จะไปกระตุ้นและส่งผลดีต่อตลาดหุ้นมากกว่า
“มาตรการคิวอีที่ใช้มา 2 ครั้งก่อนหน้านี้ แม้จะช่วยให้ธนาคารในสหรัฐมีสภาพคล่องมากขึ้น แต่ทว่าชาวอเมริกันจำนวนมากกลับไม่มีเครดิตมากพอที่จะเข้าถึงแหล่งเงินได้ เช่นเดียวกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ยังคงประสบปัญหาในการยื่นขอเงินกู้จากธนาคารที่มีเงินสำรองสูงถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 45 ล้านล้านบาท)” ผลการสำรวจของซีเอ็นเอ็น ระบุ
ขณะที่ โดว์ โคตร หัวหน้านักกลยุทธ์การตลาดจากไอเอ็นจี อินเวสต์เมนต์ แมนเนจเมนต์ กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว และนโยบายกระตุ้นที่ใช้อยู่ก็ยังไม่ครบกำหนดเวลาที่วางไว้ ฉะนั้นการอัดเงินเข้าไปเพิ่มเติมในระบบจึงไม่น่าช่วยอะไร นอกเหนือไปจากจะทำให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆ แพงขึ้น กลายเป็นเงินเฟ้อ และมากระทบกับอำนาจในการซื้อของประชาชนตามมาภายหลัง
ดังนั้น ทางเลือกในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะที่ทั่วโลกกำลังชะลอตัวเช่นนี้ จึงเหลือทางเลือกไม่มากนัก และสิ่งที่ดูเหมือนว่าจะเหมาะสมที่สุดในภาวะเช่นนี้นั้นก็คือ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำลงนั่นเอง
จึงไม่ต้องแปลกใจ ที่ต่อแต่นี้ไปจะได้เห็นประเทศต่างๆ พากันปรับลดดอกเบี้ยลงกันอีกในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เพราะภาวะเศรษฐกิจในปีหน้าซึ่งไอเอ็มเอฟได้ชิงออกมาตัดลดคาดการณ์ไปก่อนแล้วจากเดิม 4.1% ลงมาเหลือ 3.9% ก็เป็นตัวบ่งบอกชัดว่า ปีหน้าสถานการณ์ก็ยังจะอึมครึมเช่นนี้ต่อไปเช่นเดิม หรือไม่ก็อาจร้ายแรงกว่านี้... 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น